แนะนำ Web Accessibility
Web Accessibility คืออะไร
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึง ( Web Accessibility ) หมายถึง เว็บไซต์ที่สามารถให้บริการข้อมูลข่าวสารกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงอุปสรรคในการรับรู้ข่าวสาร เช่น ความพิการทางด้านการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหวส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่ไม่สามารถทำได้ เป็นต้น โดยมีการกำหนดแนวทางมาตรฐานในการออกแบบเว็บไซต์ เพื่อแก้ปัญหาของการเข้าถึงข้อมูล เช่นคนพิการทางการมองเห็นไม่สามารถอ่านข้อมูลด้วยประสาทตาได้ จึงต้องมีทางเลือกอื่นสำหรับผู้พิการกลุ่มนี้ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนข้อมูลในรูปตัวอักษรให้เป็นข้อมูลเสียงแล้วใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือพิเศษในการอ่านหน้าจอบนการแสดงผลของบราวเซอร์ ณ ขณะนั้น
ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับคนพิการทางการมองเห็นที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ในการศึกษาหาข้อมูลข่าวสารบนเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างมากมายนั้น คือกลุ่มคนพิการดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือพิเศษ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการอ่านออกเสียง ที่เรียกว่า โปรแกรมอ่านออกเสียงหน้าจอ หรือ Screen Reader แต่โปรแกรมไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารบนเว็บไซต์ต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน อันสืบเนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาเว็บไซต์ที่สลับซับซ้อนและหลากหลายจนเกินกว่าที่ตัวโปรแกรมจะทำหน้าที่ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ทั้งหมด
กรมสรรพากรได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ที่รองรับต่อการใช้งานของผู้พิการ โดยปฏิบัติตามมาตรฐานขององค์กรกลางที่ทำหน้าที่ในการกำหนดแนวทางมาตรฐานในการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้นั่นก็คือ World Wide Web Consortium ( W3C )
จะทราบได้อย่างไรว่า “เว็บไซต์ไหนที่ทุกคนเข้าถึงได้”
การที่จะทราบว่าเว็บไซต์ใดเป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้นั้น ให้สังเกตจากสัญลักษณ์กำกับที่ส่วนท้ายของหน้าเว็บนั้น ๆ ซึ่งเป็นการแสดงให้ทราบว่าได้ผ่านการตรวจสอบความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลได้ ตามแนวทางมาตรฐานในการพัฒนาเว็บให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ที่เรียกว่า Web Content Accessibility Guideline 1.0 หรือ WCAG 1.0 ซึ่งเป็นมาตรฐานขององค์กร World Wide Web Consortium (W3C)
สำหรับสัญลักษณ์ที่แสดงนั้นจะแบ่งระดับความสามารถในการเข้าถึงเป็น 3 ระดับด้วยกันคือ
1. Level A
2. Level Double-A
3. Level Triple-A
ความหมายของแต่ละ Level นั่นจะต้องพิจารณาจากค่าระดับความสำคัญ (Priority) ดังต่อไปนี้
Priority 1 หรือ ระดับความสำคัญที่ 1 หมายถึง ผู้ที่พัฒนาเว็บไซต์ จะต้อง ปฏิบัติตามแนวทาง ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของคนพิการเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
Priority 2 หรือ ระดับความสำคัญที่ 2 หมายถึง ผู้ที่พัฒนาเว็บไซต์ ควรจะ ปฏิบัติตามแนวทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ
Priority 3 หรือ ระดับความสำคัญที่ 3 หมายถึง ผู้ที่พัฒนาเว็บไซต์ อาจจะ ปฏิบัติตามแนวทางก็ได้ ซึ่งหมายความว่า ถ้าปฏิบัติตาม คนพิการที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น